วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม จังหวัดปทุมธานี


วัดเจดีย์ทอง
ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลคลองควาย การเดินทางใช้เส้นทางสายปทุมธานี-สามโคก ประมาณ 8 กิโลเมตรและแยกขวาเข้าวัดอีกประมาณ 500 เมตร ในวัดนี้มีเจดีย์ทรงรามัญ สร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์โดยชาวมอญ เป็นสถาปัตยกรรมมอญที่เลียนแบบมาจากเจดีย์จิตตะกองของพม่า และมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างขึ้นด้วยหยกขาว เป็นที่เคารพสักการะของชาวไทยรามัญ

วัดหงษ์ปทุมาวาส (วัดมอญ)
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ตำบลบางปรอก ใกล้กับตลาดสดเทศบาล เป็นวัดที่สร้างโดยชาวมอญที่อพยพหนีพม่ามาไทยในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี มีสัญลักษณ์ของวัดมอญคือ เสาหงส์ ซึ่งบนยอดเสาเป็นตัวหงส์ หมายถึง เมืองหงสาวดี เมืองหลวงของชาวมอญ ปูชนียวัตถุสำคัญของวัดคือ พระพุทธชินราชจำลองปางมารวิชัย  เจดีย์มอญจำลองแบบมาจากเจดีย์จิตตะกองในเมืองหงสาวดี วิหารจำลองได้แบบมาจากกรุงหงสาวดีหลังคาเป็นชั้นๆ มีลวดลายที่สวยงามมาก อุโบสถเป็นอุโบสถสร้างใหม่ตามสถาปัตยกรรมของไทย มองเห็นช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ได้แต่ไกล ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธประวัติและยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย  รูปหล่อหลวงปู่เฒ่าที่ชาวบ้านนับถือ  และมีศาลาการเปรียญประดับด้วยไม้แกะสลักสวยงาม วัดแห่งนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาหน้าวัด มีพันธุ์ปลาต่าง ๆ มากมายที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ปลาสวาย ปลาเทโพ ว่ายมาชุมนุมกันอยู่เนืองแน่นเพื่อรอรับอาหารจากผู้มาทำบุญไหว้พระที่วัด

วัดเจดีย์หอย
ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลบ่อเงิน อำเภอลาดหลุมแก้ว การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 341 (ปทุมธานี-
ลาดหลุมแก้ว) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 21-22 แล้วแยกเข้าวัดไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร บริเวณวัดมีการขุดพบซากหอยนางรมยักษ์อายุนับล้านปีจำนวนมาก หลวงพ่อทองกลึงเจ้าอาวาส จึงนำซากหอยโบราณมาก่อเป็นเจดีย์ขึ้นที่ด้านหน้าทางเข้าและในวัด   นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์รวบรวมพระพุทธรูป และศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้เก่า ๆ จำนวนมาก เช่น ตุ่มสามโคก ถ้วยชามดินเผา ไม้แกะสลัก เครื่องคิดเลข เปลือกหอยนางรมยักษ์ หอยมือเสือยักษ์ ฆ้องทองเหลืองที่ลูบแล้วมีเสียงดังได้โดยไม่ต้องตี
นอกจากนี้ในบริเวณวัดยังมีสวนสมุนไพร บ่อเลี้ยงเต่าและบ่อปลาสำหรับให้นักท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจกับการให้อาหารสัตว์เหล่านี้

วัดสิงห์
ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา การเดินทางใช้ถนนสายปทุมธานี-สามโคก ประมาณ 3 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวาเข้าวัด เป็นวัดเก่าแก่ซึ่งยังปรากฏเจดีย์ โบสถ์ วิหารเก่าแก่ ควรค่าแก่การศึกษาด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี พระพุทธรูปสำคัญของวัดคือ หลวงพ่อโต พระพุทธรูปลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย สมัยกรุงศรีอยุธยา พระพุทธไสยาสน์ (หลวงพ่อเพชร) นอกจากนี้ยังมีโกศบรรจุอัฐิหลวงพ่อพญากราย ซึ่งเป็นพระมอญธุดงค์มาจำพรรษาที่วัดสิงห์ บนกุฎิของวัดมีพิพิธภัณฑ์ เก็บรักษาของเก่า ได้แก่ ตุ่มสามโคก แท่นบรรทมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองสามโคก ใบลานอักษรมอญ ตู้พระธรรม และพระพุทธรูป
หมายเหตุ การเข้าชมต้องขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดก่อน
 
ด้านหน้าวัดสิงห์มีการขุดค้นพบโบราณสถานเตาโอ่งอ่าง ซึ่งถือเป็นหลักฐานของการตั้งชุมชนมอญในสมัยแรกในบริเวณนี้นับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตุ่มสามโคก เป็นภาชนะบรรจุที่ใหญ่ที่สุดซึ่งผลิตจากเตาแหล่งนี้ ต่อมาภายหลังชาวรามัญเมืองสามโคกได้เลิกร้างการผลิตไปโดยย้ายการผลิตไปที่เกาะเกร็ด เมืองนนทบุรี ซึ่งได้ขยายการผลิตตุ่มสามโคกขึ้นเป็นจำนวนมากและได้นำไปขายขึ้นล่องตามลำน้ำไปทั่วทุกภาค ก่อนที่จะถูกแทนที่ด้วยโอ่งลายมังกรจากราชบุรี

ลักษณะตุ่มสามโคกมีเนื้อดินสีแดงส้มเหมือนสีอิฐหรือสีมันปู เนื้อภาชนะค่อนข้างหนา รูปทรงปากโอ่งแคบ คอโอ่งจะติดกับไหล่ มีลายยืดเป็นเส้นคู่ตรงไหล่ ตรงกลางตุ่มป่องกลม รูปทรงเตี้ยป้อม ปากและก้นโอ่งมีขนาดใกล้เคียงกัน ปัจจุบันหาดูตุ่มสามโคกของเก่าได้ที่ วัดสิงห์ วัดสามโคก และตุ่มสามโคกขนาดใหญ่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร

วัดไผ่ล้อม
ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านงิ้ว บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านเหนือของจังหวัดปทุมธานี ใช้เส้นทาง 3309 (ถนนสายเชียงรากน้อย ซึ่งเป็นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา) เป็นแหล่งดูนกปากห่างที่ได้รับความสนใจทั้งจากนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศเป็นอันมาก ได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งรวมพื้นที่ของวัดไผ่ล้อมและวัดอัมพุวราราม ในเนื้อที่ 74 ไร่ บริเวณวัดมีต้นไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น เป็นที่อาศัยของนกปากห่างมากว่า 100 ปีแล้ว
นกปากห่างเป็นนกในวงศ์นกกระสา แต่มีลักษณะเฉพาะที่จะงอยปากซึ่งปิดไม่สนิท คือมีร่องโค้งตรงกลางปาก ซึ่งมีประโยชน์ต่อนกในการจับหอยโข่งกินเป็นอาหาร นกปากห่างมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว เขมร และเวียดนาม อพยพมาหาพื้นที่เหมาะสมในไทยเพื่อผสมพันธุ์ สร้างรังและวางไข่ ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี ซึ่งในช่วงฤดูผสมพันธุ์นี้จะเห็นถึงสายสัมพันธ์ของครอบครัวนกในการสร้างรังด้วยกิ่งไม้ ผลัดกันหาอาหารและดูแลลูกน้อย มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติและหอดูนก รายละเอียดติดต่อที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่า วัดไผ่ล้อมและวัดอัมพุวราราม

วัดบัวขวัญ
เป็นวัดเก่าแก่ของอำเภอลาดหลุมแก้ว การเดินทาง  ใช้เส้นทางสาย 341 (ปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว) เลี้ยวซ้ายประมาณหลักกิโลเมตรที่ 21-22 ไปอีก 5 กิโลเมตร ที่วัดนี้มีพระพุทธรูปทองสำริด ปางบำเพ็ญทุกขกิริยา ซึ่งสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมกับพระพุทธรูปตามระเบียงวัดเบญจมบพิตร   นอกจากนี้ยังมีรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งจำลองมาจากวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีและพลับพลาที่ประทับแรกนาขวัญ สมัยรัชกาลที่ 6 เดิมเรียกว่า "ศาลาแดง" ตั้งอยู่ที่วังพญาไท ในกรุงเทพฯ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น