วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม จังหวัดปทุมธานี


วัดเจดีย์ทอง
ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลคลองควาย การเดินทางใช้เส้นทางสายปทุมธานี-สามโคก ประมาณ 8 กิโลเมตรและแยกขวาเข้าวัดอีกประมาณ 500 เมตร ในวัดนี้มีเจดีย์ทรงรามัญ สร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์โดยชาวมอญ เป็นสถาปัตยกรรมมอญที่เลียนแบบมาจากเจดีย์จิตตะกองของพม่า และมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างขึ้นด้วยหยกขาว เป็นที่เคารพสักการะของชาวไทยรามัญ

วัดหงษ์ปทุมาวาส (วัดมอญ)
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ตำบลบางปรอก ใกล้กับตลาดสดเทศบาล เป็นวัดที่สร้างโดยชาวมอญที่อพยพหนีพม่ามาไทยในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี มีสัญลักษณ์ของวัดมอญคือ เสาหงส์ ซึ่งบนยอดเสาเป็นตัวหงส์ หมายถึง เมืองหงสาวดี เมืองหลวงของชาวมอญ ปูชนียวัตถุสำคัญของวัดคือ พระพุทธชินราชจำลองปางมารวิชัย  เจดีย์มอญจำลองแบบมาจากเจดีย์จิตตะกองในเมืองหงสาวดี วิหารจำลองได้แบบมาจากกรุงหงสาวดีหลังคาเป็นชั้นๆ มีลวดลายที่สวยงามมาก อุโบสถเป็นอุโบสถสร้างใหม่ตามสถาปัตยกรรมของไทย มองเห็นช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ได้แต่ไกล ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธประวัติและยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย  รูปหล่อหลวงปู่เฒ่าที่ชาวบ้านนับถือ  และมีศาลาการเปรียญประดับด้วยไม้แกะสลักสวยงาม วัดแห่งนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาหน้าวัด มีพันธุ์ปลาต่าง ๆ มากมายที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ปลาสวาย ปลาเทโพ ว่ายมาชุมนุมกันอยู่เนืองแน่นเพื่อรอรับอาหารจากผู้มาทำบุญไหว้พระที่วัด

วัดเจดีย์หอย
ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลบ่อเงิน อำเภอลาดหลุมแก้ว การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 341 (ปทุมธานี-
ลาดหลุมแก้ว) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 21-22 แล้วแยกเข้าวัดไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร บริเวณวัดมีการขุดพบซากหอยนางรมยักษ์อายุนับล้านปีจำนวนมาก หลวงพ่อทองกลึงเจ้าอาวาส จึงนำซากหอยโบราณมาก่อเป็นเจดีย์ขึ้นที่ด้านหน้าทางเข้าและในวัด   นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์รวบรวมพระพุทธรูป และศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้เก่า ๆ จำนวนมาก เช่น ตุ่มสามโคก ถ้วยชามดินเผา ไม้แกะสลัก เครื่องคิดเลข เปลือกหอยนางรมยักษ์ หอยมือเสือยักษ์ ฆ้องทองเหลืองที่ลูบแล้วมีเสียงดังได้โดยไม่ต้องตี
นอกจากนี้ในบริเวณวัดยังมีสวนสมุนไพร บ่อเลี้ยงเต่าและบ่อปลาสำหรับให้นักท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจกับการให้อาหารสัตว์เหล่านี้

วัดสิงห์
ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา การเดินทางใช้ถนนสายปทุมธานี-สามโคก ประมาณ 3 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวาเข้าวัด เป็นวัดเก่าแก่ซึ่งยังปรากฏเจดีย์ โบสถ์ วิหารเก่าแก่ ควรค่าแก่การศึกษาด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี พระพุทธรูปสำคัญของวัดคือ หลวงพ่อโต พระพุทธรูปลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย สมัยกรุงศรีอยุธยา พระพุทธไสยาสน์ (หลวงพ่อเพชร) นอกจากนี้ยังมีโกศบรรจุอัฐิหลวงพ่อพญากราย ซึ่งเป็นพระมอญธุดงค์มาจำพรรษาที่วัดสิงห์ บนกุฎิของวัดมีพิพิธภัณฑ์ เก็บรักษาของเก่า ได้แก่ ตุ่มสามโคก แท่นบรรทมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองสามโคก ใบลานอักษรมอญ ตู้พระธรรม และพระพุทธรูป
หมายเหตุ การเข้าชมต้องขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดก่อน
 
ด้านหน้าวัดสิงห์มีการขุดค้นพบโบราณสถานเตาโอ่งอ่าง ซึ่งถือเป็นหลักฐานของการตั้งชุมชนมอญในสมัยแรกในบริเวณนี้นับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตุ่มสามโคก เป็นภาชนะบรรจุที่ใหญ่ที่สุดซึ่งผลิตจากเตาแหล่งนี้ ต่อมาภายหลังชาวรามัญเมืองสามโคกได้เลิกร้างการผลิตไปโดยย้ายการผลิตไปที่เกาะเกร็ด เมืองนนทบุรี ซึ่งได้ขยายการผลิตตุ่มสามโคกขึ้นเป็นจำนวนมากและได้นำไปขายขึ้นล่องตามลำน้ำไปทั่วทุกภาค ก่อนที่จะถูกแทนที่ด้วยโอ่งลายมังกรจากราชบุรี

ลักษณะตุ่มสามโคกมีเนื้อดินสีแดงส้มเหมือนสีอิฐหรือสีมันปู เนื้อภาชนะค่อนข้างหนา รูปทรงปากโอ่งแคบ คอโอ่งจะติดกับไหล่ มีลายยืดเป็นเส้นคู่ตรงไหล่ ตรงกลางตุ่มป่องกลม รูปทรงเตี้ยป้อม ปากและก้นโอ่งมีขนาดใกล้เคียงกัน ปัจจุบันหาดูตุ่มสามโคกของเก่าได้ที่ วัดสิงห์ วัดสามโคก และตุ่มสามโคกขนาดใหญ่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร

วัดไผ่ล้อม
ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านงิ้ว บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านเหนือของจังหวัดปทุมธานี ใช้เส้นทาง 3309 (ถนนสายเชียงรากน้อย ซึ่งเป็นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา) เป็นแหล่งดูนกปากห่างที่ได้รับความสนใจทั้งจากนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศเป็นอันมาก ได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งรวมพื้นที่ของวัดไผ่ล้อมและวัดอัมพุวราราม ในเนื้อที่ 74 ไร่ บริเวณวัดมีต้นไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น เป็นที่อาศัยของนกปากห่างมากว่า 100 ปีแล้ว
นกปากห่างเป็นนกในวงศ์นกกระสา แต่มีลักษณะเฉพาะที่จะงอยปากซึ่งปิดไม่สนิท คือมีร่องโค้งตรงกลางปาก ซึ่งมีประโยชน์ต่อนกในการจับหอยโข่งกินเป็นอาหาร นกปากห่างมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว เขมร และเวียดนาม อพยพมาหาพื้นที่เหมาะสมในไทยเพื่อผสมพันธุ์ สร้างรังและวางไข่ ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี ซึ่งในช่วงฤดูผสมพันธุ์นี้จะเห็นถึงสายสัมพันธ์ของครอบครัวนกในการสร้างรังด้วยกิ่งไม้ ผลัดกันหาอาหารและดูแลลูกน้อย มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติและหอดูนก รายละเอียดติดต่อที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่า วัดไผ่ล้อมและวัดอัมพุวราราม

วัดบัวขวัญ
เป็นวัดเก่าแก่ของอำเภอลาดหลุมแก้ว การเดินทาง  ใช้เส้นทางสาย 341 (ปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว) เลี้ยวซ้ายประมาณหลักกิโลเมตรที่ 21-22 ไปอีก 5 กิโลเมตร ที่วัดนี้มีพระพุทธรูปทองสำริด ปางบำเพ็ญทุกขกิริยา ซึ่งสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมกับพระพุทธรูปตามระเบียงวัดเบญจมบพิตร   นอกจากนี้ยังมีรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งจำลองมาจากวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีและพลับพลาที่ประทับแรกนาขวัญ สมัยรัชกาลที่ 6 เดิมเรียกว่า "ศาลาแดง" ตั้งอยู่ที่วังพญาไท ในกรุงเทพฯ


วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พิพิธภัณฑ์และสถานที่ท่องเที่ยว

หออัครศิลปิน
ตั้งอยู่ตำบลคลองห้า อยู่เลยพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ไปอีกราว 3 กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นเลิศในศิลปะทั้งมวล เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่พสกนิกรและศิลปินทั่วโลก เป็นสถานที่จัดแสดงผลงานด้านศิลปและวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของพระองค์  9 ด้าน คือ ด้านหัตถกรรม ด้านวาทศิลป์ ด้านวรรณศิลป์ ด้านจิตรกรรม ด้านถ่ายภาพ ด้านภูมิสถาปัตยกรรม ด้านประติมากรรม ด้านคีตศิลป์ และด้านการพระราชนิพนธ์เพลง นอกจากนี้ ยังเป็นที่จัดแสดงประวัติและผลงานอันล้ำค่าของศิลปินแห่งชาติทุกท่านในรูปแบบนิทรรศการภาพและเทคโนโลยีที่ทันสมัยและถ่ายทอดผลงานและภูมิปัญญาของศิลปินแห่งชาติทั้ง 4 สาขา คือ สาขาวรรณศิลป์ ศิลปการแสดง ทัศนศิลป์ และสถาปัตยกรรม 
ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ในวันจันทร์-วันศุกร์ 08.30-16.00 น. และในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ควรทำหนังสือแจ้งล่วงหน้าก่อนเข้าชม

โดยไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 2986 5020-4 โทรสาร 0 2986 5023

ภายในบริเวณใกล้เคียงกับหออัครศิลปิน ยังมีโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่งเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก หอจดหมายเหตุแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา


องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)  พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ถือได้ว่าเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ ที่เป็นการสื่อสารความรู้ให้กับผู้เข้าชม ให้เข้าใจสาระทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้โดยง่าย และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน  ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองหก ในบริเวณเทคโนธานี โดยแยกจากถนนสายรังสิต-นครนายก ไปประมาณ 4 กิโลเมตร สามารถโดยสารรถประจำทางสาย ปอ.1155 สายรังสิต-ฟิวเจอร์พาร์ค-พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

ตัวอาคารโดดเด่นด้วยการออกแบบเป็นทรงลูกบาศก์ 3 ลูกเกาะเกี่ยวกันอย่างสมดุล ใช้มุมแหลมของแต่ละลูกบาศก์รับน้ำหนัก มีความสูง 42 เมตร กว้าง 60 เมตร ภายในแบ่งออกเป็น 6 ชั้น จัดแสดงนิทรรศการทางวิทยาศาสตร์ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ที่สามารถสร้างความเพลิดเพลินไปพร้อมกับการเรียนรู้ ชั้นที่ 1 เป็นส่วนต้อนรับและแนะนำการเข้าชม มีการจัดแสดงภาพ และผลงานนักวิทยาศาสตร์   การจำลองลูกโลกขนาดใหญ่ ชั้นที่  2 จัดแสดงหุ่นจำลองลูซี่ ที่ทำจากฟอสซิล เป็นรูปเหมือนที่แสดงถึงการกำเนิดมนุษย์คนแรก ยานอวกาศ และมนุษย์อวกาศจำลอง ชั้นที่ 3 เป็นอุโมงค์เงา และเรือนไม้ จัดแสดงในเรื่องของแสง ชั้นที่ 4 จัดแสดงพื้นฐาน และเทคโนโลยีในประเทศไทยลักษณะทางภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา นิเวศวิทยา การผลิตด้านการเกษตรและเทคโนโลยีการก่อสร้าง  ชั้นที่ 5 คือแสดงการแยกแยะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมนุษย์ รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และ ชั้นที่  6 แสดงถึงภูมิปัญญาไทย ผ่านสิ่งประดิษฐ์ หัตถกรรม ของเล่น ที่สามารถอธิบายและพิสูจน์ได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์สากล

นอกจากนี้แล้วยังมี พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ที่จัดแสดงนิทรรศการทางธรรมชาติ และพิพิธภัณฑ์เทคโนโลสารสนเทศ  เปิดให้ชมทุกวันอังคาร-วันศุกร์ เวลา 09.00–16.00 น วันเสาร์-วันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00–17.00 น. ปิดวันจันทร์ 

อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 60 บาท  ชาวต่างประเทศ 60 บาท  เยาวชน  นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ ไม่เสียค่าเข้าชม  (ต้องแสดงบัตร) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2577 9999 ต่อ 1829-30 หรือที่เว็บไซต์ www.nsm.or.th
พิพิธภัณฑ์หินแปลก


ตั้งอยู่ที่ 29/2 หมู่ 1ถนนรังสิต-ท่าน้ำปทุมธานี ตำบลบ้านกลาง ภายในพิพิธภัณฑ์หินแปลกได้เก็บรักษา และสะสมหินหยก ฟอสซิล หินธรรมชาติ และหินย้อย ที่ได้มาจากที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศทั่วโลก จัดแสดงหินแปลกเป็นรูปลักษณ์และสีสันต่าง ๆ ภายในพิพิธภัณฑ์จำนวนมาก อาทิ กระดานหมากรุกจีน รูปนกเค้าแมว รูปหมียืน ที่เขี่ยบุหรี่ จัดแสดงที่เขี่ยบุหรี่ อาทิ ไฟแช็กชนิดต่าง ๆ, ที่เปิดขวดรูปต่าง ๆ, ที่เขี่ยบุหรี่ทองเหลืองลงยา เครื่องเงินไทย เครื่องดินเผา เครื่องเคลือบทั้งของประเทศไทย และประเทศต่าง ๆ, รองเท้า, ผีเสื้อ, รถสมัยโบราณ, เครื่องบิน, ที่เขี่ยบุหรี่โทรศัพท์พร้อมไฟแช็ก และปลอกกระสุนปืน เป็นต้น เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2581 4835, 08 7550 0803, 08 7015 6629 หรือ E-mail: rarestonemuseum@gmail.com

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงครองราชครบ 50 ปี ในปี พ.ศ.2539 เป็นพิพิธภัณฑ์ทางด้าน ชาติพันธุ์วิทยา ตั้งอยู่ ณ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี บนเนื้อที่ 305 ไร่ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสที่สำคัญยิ่งของพสกนิกรชาวไทย กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง จึงได้อัญเชิญนามพระราชพิธีมาเป็นชื่อหน่วยงานนี้ว่า "พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก"

โครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ด้านชาติพันธุ์วิทยานั้นกำเนิดมาจากนโยบายของกรมศิลปากรที่ตระหนักถึงแนวทางการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ที่มุ่งเน้นทางด้านการกระจายความเจริญจากเมืองไปสู่ชานเมือง นับเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเฉพาะสาขาในส่วนกลาง ลำดับที่ 3

นอกจากนี้ทางกรมศิลปากรได้จัดให้พิพิธภัณฑสถานเฉพาะด้านสาขาอื่น ๆ ผนวกกับการสร้างอาคารของหน่วยงานอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมที่โยกย้ายออกจากกรุงเทพฯ มารวมอยู่ในพื้นที่เดียวกันเพื่อเตรียมจัดให้เป็นพื้นที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ ร.9 แหล่งเรียนรู้สหสาขาวิชาที่ครอบคลุมความรู้เรื่องที่เกี่ยวกับคนไทยทั้งศิลปวัฒนธรรมชาติพันธุ์วิทยา และธรรมชาติวิทยา เพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์การเรียนรู้แก่ผู้ที่มาเยี่ยมเยียน เป็นบทนำการเดินทางท่องเที่ยวและศึกษาในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ

ภายในพื้นที่โครงการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษกจึงมีพิพิธภัณฑ์และหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ อยู่ร่วมกันหลายหน่วยงาน อาทิ หอจดหมายแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 หออัครศิลปิน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยา เป็นต้น   ถึงแม้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็ตาม แต่สามารถให้ความรู้แก่นักเรียน หรือผู้ที่สนใจได้ในรูปแบบของนิทรรศการสัญจรตามสถานศึกษา และศูนย์กลางชุมชน พร้อมสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะวัตถุ โบราณวัตถุจำลอง ภาพสไลด์ เป็นต้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้บรรยาย  และในปี พ.ศ.2548 นี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษกเปิดให้บริการในส่วนของศูนย์ข้อมูลโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ซึ่งจะมีการจัดแสดงโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผา ผ้า อาวุธ เครื่องใช้ในการเกษตร เป็นต้น จำนวนมากกว่า 10,000 รายการในรูปแบบของคลังเปิด 

สวนสนุกดรีมเวิลด์
ตั้งอยู่ที่ตำบลบึงยี่โถ กิโลเมตรที่ 7 เส้นทางสายรังสิต-นครนายก บริเวณคลองสาม หากเดินทางโดยรถประจำทาง ปอ. 538 (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลฯ) หรือนั่งรถโดยสาร ขสมก.มาลงที่รังสิตแล้วต่อรถสายที่ไปสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลฯ แวะลงที่หน้าดรีมเวิลด์

ดรีมเวิลด์เป็นสวนสนุกและสถานที่พักผ่อนที่รวบรวมความบันเทิงนานาชนิดเข้าไว้ด้วยกันในเนื้อที่กว่า 160 ไร่ ประกอบด้วยดินแดนต่าง ๆ 4 ดินแดน ซึ่งได้รับการออกแบบให้มีบรรยากาศแห่งความสุข สนุกสนานที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ ดรีมเวิลด์ พลาซ่า ดินแดนที่เต็มไปด้วยความงดงามของสถาปัตยกรรมอันวิจิตร พิศดารตลอดสองข้างทาง ดรีมการ์เด้น เป็นอุทยานสวนสวยที่ถูกจัดไว้อย่างสวยงามท่ามกลางความเย็นสบายจากทะเลสาบขนาดใหญ่ และเคเบิ้ลคาร์ ที่จะพาชมความงามของทัศนียภาพในมุมสูง แฟนตาซี แลนด์ เป็นดินแดนแห่งเทพนิยาย ประกอบด้วย ปราสาทเจ้าหญิงนิทรา บ้านขนมปัง และบ้านยักษ์ แอดแวนเจอร์ แลนด์ ดินแดนแห่งการผจญภัย และท้าทาย ประกอบด้วย รถไฟตะลุยจักรวาล ไวกิ้งส์ เมืองหิมะ เป็นต้น

อัตราค่าบริการ บัตรผ่านประตู ชาวไทย ผู้ใหญ่ 150 บาท เด็ก 120 บาท บัตรรวมเครื่องเล่นและค่าผ่านประตู ผู้ใหญ่และเด็ก 395 บาท (เล่นได้รอบเดียว) และ 440 บาท (เล่นได้หลายรอบ) ชาวต่างประเทศ 450 บาท เปิดบริการทุกวันจันทร์-อาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น. เสาร์-อาทิตย์และวันหยุดราชการ เปิดถึง 19.00 น. และมรการแสดงคัลเลอร์ออฟเดอะเวิลด์พาเหรดแสดงทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ วันละ 1 รอบ เวลา 15.45 น.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 2533 1152, 0 2533 1447 โทรสาร 0 2533 1899 เว็บไซต์
http://www.dreamworld-th.com

พิพิธภัณฑ์บัว
     ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เริ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2543 ในการดูแลของสำนักงานโครงการ
ภูมิทัศน์และสำนักงานกิจการพิเศษของมหาวิทยาลัยฯ   ตามโครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี    โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อรวบรวมพันธุ์บัว ทั้งพันธุ์ไทย พันธุ์เทศและพันธุ์ลูกผสม เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ ค้นคว้าวิจัย ขยายพันธุ์บัว  เพื่อศึกษาเรื่องการนำส่วนต่าง ๆ ของบัวไปใช้ประโยชน์ อีกทั้งเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  มีการรวบรวมพันธุ์บัวต่าง ๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศ และพันธุ์ลูกผสม กว่า 100 สายพันธุ์ปลูกไว้ในกระถางและสระน้ำ อาทิ บัวหลวง บัวผัน บัวเผื่อน บัวยักษ์ บัวจงกลนี บัวกระด้ง ฯลฯ รวมทั้งบัวที่ชื่อว่า "มังคลอุบล " บัวฝรั่งสัญชาติไทย ที่ได้รับรางวัล Best New Hardy Waterlily 2004 ในการประกวดบัวโลกครั้งที่ 19 ที่สหรัฐอเมริกา "บัวแทนขวัญ" บัวฝรั่งสัญชาติไทย ที่ได้รับรางวัล Best New Hardy Waterlily 2006 "บัวธัญกาฬ" บัวสายบานกลางคืน ดอกสีแดง ดำ เหลือบม่วง หลังใบมีจุดประสีดำ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ปี 2550 งานบัวนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ์ ณ สวนหลวง ร.9 และ "บังจงกลนี" บัวไทยแท้ตั้งแต่สมัยสุโขทัย มีที่ประเทศไทยแห่งเดียวในโลก บัวที่บานแล้วไม่หุบ เพราะมีกลีบซ้อนกันหลายชั้น  เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน เวลา 8.30 - 16.30 น.

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : พิพิธภัณฑ์บัว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 39  หมู่ ถนนรังสิต-นครนายก กิโลเมตรที่ 13 ตำบลคลองหก อำเภอธัญบุรี ปทุมธานี  12110   โทร.  0 2549 3043,  08 9692  9808  เว็บไซต์http://lotus.rmutt.ac.th

ประวัติจังหวัดปทุมธานี (แบบสรุป)

ประวัติ ความเป็นมาคร่าวๆของจังหวัดปทุมธานี
จังหวัดปทุมธานี เดิมเป็นถิ่นฐานบ้านเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่า 300 ปี นับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา คือเมื่อพุทธศักราช 2202 มังนันทมิตรได้กวาดต้อนครอบครัวมอญ เมืองเมาะตะมะ อพยพหนีภัยจากศึกพม่าเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวมอญเหล่านั้นไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสามโคก จากนั้นมาชุมชนสามโคกได้พัฒนาขึ้นมาตามลำดับ   ต่อมาแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี ชาวมอญได้อพยพหนีพม่าเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอีกเป็นครั้งที่ 2 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนที่สามโคก และครั้งสุดท้ายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มีการอพยพชาวมอญครั้งใหญ่จากเมืองเมาะตะมะ เข้าสู่ประเทศไทยเรียกว่า " มอญใหญ่" พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญบางส่วนตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสามโคกอีกเช่นเดียวกัน ฉะนั้นจากชุมชนที่ขนาดเล็ก "บ้านสามโคก" จึงกลายเป็น "เมืองสามโคก" ในกาลต่อมา
     พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเอาพระทัยใส่ดูแล ทำนุบำรุงชาวมอญเมืองสามโคกไม่ได้ขาด ครั้งเมื่อเดือน 11 พุทธศักราช 2358 ได้เสด็จประพาสที่เมืองสามโคก และประทับที่พลับพลาริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งซ้ายเยื้องเมืองสามโคก ยังความปลาบปลื้มใจให้แก่ชาวมอญเป็นล้นพ้น จึงได้พากันหลั่งไหลนำดอกบัวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายราชสักการะอยู่เป็นเนืองนิจ ยังความซาบซึ้งในพระราชหฤทัยเป็นที่ยิ่ง จึงบันดาลพระราชหฤทัยให้พระราชทานนามเมืองสามโคกเสียใหม่ว่า "เมืองประทุมธานี" ซึ่งวันนั้นตรงกับวันที่ 23 สิงหาคม พุทธศักราช 2358 ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ชื่อเมืองประทุมธานีจึงได้กำเนิดนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

     ในปีพุทธศักราช 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าให้ใช้คำว่า "จังหวัด" แทน"เมือง" และให้เปลี่ยนการเขียนชื่อจังหวัดใหม่จาก "ประทุมธานี" เป็น "ปทุมธานี" ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยุบจังหวัดธัญบุรีขึ้นกับจังหวัดปทุมธานีเมื่อ พุทธศักราช 2475

     นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้พระราชทานนาม เมืองปทุมธานีเป็นต้นมา จังหวัดปทุมธานีก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ เป็นจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์มีศิลปวัฒนธรรม และเอกลักษณ์อื่นๆ เป็นของตัวเองซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวปทุมธานีภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง และเป็นจังหวัดในเขตปริมณฑลที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ตัวเมืองปทุมธานีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศเหนือประมาณ 46  กิโลเมตร  มีพื้นที่ประมาณ 1,565 ตารางกิโลเมตร  เเบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ  คือ  อำเภอเมืองปทุมธานี  สามโคก  ลาดหลุมเเก้ว  ธัญบุรี  หนองเสือ  คลองหลวง  และลำลูกกา